หลักการรับประทานอาหารให้สุขภาพดี

ตามหลักการแล้วคนเราจะต้องกินอาหารทั้งให้ถูกต้องและเหมาะสม
คำว่า กินถูกต้อง ก็คือต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่  ซึ่งเป็นหมวดหมู่ที่ร่างกายเราต้องการ อันได้แก่


  • โปรตีน ซึ่งเป็นพวกที่ได้จากเนื้อสัตว์ ธัญพืช เช่น ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากถั่วและไข่ เป็นต้น
  • คาร์โบไฮเดรต เป็นพวกข้าว เผือก มัน แป้ง น้ำตาล
  • ไขมัน ซึ่งอาจได้จากสัตว์ หรือพืชก็ได้
  • พืชผัก โดยเฉพาะพวกที่มีสีจัด เช่น เขียวเข้ม เหลือง ส้ม สีม่วง จะให้คุณค่าทางโภชนาการมาก
  • ผลไม้สด เช่น แตงโมง ส้ม มะละกอ ฝรั่ง



ส่วนคำว่า เหมาะสม ก็หมายความว่าอาหารนั้นต้องเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคน เช่น คนเป็นโรคเบาหวาน ความเหมาะสมก็คืออาหารหมู่คาร์โบไฮเดรตต้องลดลง ส่วนคนที่ไขมันในเลือดสูง อาหารพวกกะทิ พวกทอดหรือผัดน้ำมันมากๆ ก็ต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น





ทำไมเราต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างนี้ก็ควรจะทราบความสำคัญของแต่ละหมู่ก่อน
หมู่โปรตีน ใช้สร้างเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย สร้างเอนไซม์ เช่น น้ำย่อยอาหาร ฮอร์โมน สร้างภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้เชื้อโรค และใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับร่างกายด้วย
แต่การกินโปรตีนจนล้นมากเกินไป โดยเฉพาะกินเนื้อสัตว์ (บก) มาก แทนที่สุขภาพจะดี กลับทำให้เกิดโรคได้หลายโรค เช่น


  • โรคอ้วน เพราะโปรตีนส่วนที่เกิน ระบบในร่างกายจะเปลี่ยนเป็นจากโปรตีนไปเป็นไขมันทำให้อ้วน
  • โรคความดันเลือดสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคมะเร็ง
  • โรคเสี่ยงต่อภาวะไตวาย เพราะไตต้องทำงานหนักมาก จากการย่อยสลายสารเอมีนที่มีอยู่ในโปรตีน แล้วขับออกทางปัสสาวะ
  • ทำให้ปวดข้อเพราะมีกรดยูริคสูงจากโปรตีนล้นเกิน
  • เสี่ยงต่อโรคกระดูกบาง เพราะในเนื้อสัตว์มีฟอสฟอรัสสูงมาก ตามปกติร่างกายจะสร้างสมดุลระหว่างแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสจะเท่ากับสองต่อหนึ่ง เมื่อเนื้อสัตว์มีฟอสฟอรัสสูงมาก ร่างกายก็จะไปละลายแคลเซียมจากกระดูก เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างแคลเซียมกับฟอสฟอรัส คือ สองต่อหนึ่ง เมื่อกระดูกถูกดึงแคลเซียมไปจึงเกิดโรคกระดูกบางและหักง่าย
  • เสี่ยงต่อภาวะภูมิแพ้จากสารเสียที่เกิดจากการย่อยสลายของเนื้อสัตว์




ความจริงแล้วโปรตีนไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์อย่างเดียว พวกที่กินอาหารมังสวิรัตก็จะได้โปรตีนจากข้าวกล้อง ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหมือนกัน เช่น เต้าหู้ เป็นต้น

คนเราตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี โปรตีนจะทำหน้าที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับร่างกาย หลังจากนั้นโปรตีนก็จะทำหน้าที่ซ่อมสิ่งสึกหรอ ดังนั้นเมื่อพ้นวัยเจริญเติบโตแล้วหรือเป็นผู้ใหญ่โดยเฉพาะอายุมากแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องกินโปรตีนมาก เพราะร่างกายต้องการโปรตีนเพื่อมาซ่อมส่วนสึกหรอเท่านั้น ยิ่งกินโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลา จะยิ่งดีต่อสุขภาพของร่างกาย

ในผู้ใหญ่ให้กินเนื้อสัตว์เพียง 100 กรัม หรือ 1ขีด หรือขนาดเท่ามือตัวเอง ที่หุบนิ้วติดกันทั้ง 5 นิ้ว และความหนาก็จะเท่ากับความหนาของมือ จะกินได้ประมาณ 100 กรัม เป็นจำนวนที่กินใน 1 วันไม่ใช่ 1 มื้อ ถ้าจะกินเนื้อสัตว์ 3 มื้อ ให้แบ่งเนื้อสัตว์มา 100 กรัมแล้วแบ่งเป็น 3 ส่วนหรือ 3 มื้อ  ถ้าจะกินมือเย็นมื้อเดียวก็กินมื้อนั้นได้ 1 กรัม

แต่เด็กที่กำลังเจริญเติบโตต้องกินโปรตีนมากกว่าผู้ใหญ่ ถ้าตอนเช้ากินไข่ดาว หมูแฮม กลางวันกินข้าวหมูทอดกระเทียมพริกไทย ไข่เจียว เย็นกินสเต็ก (แม้จะเป็นปลาก็ตาม) ในผู้ใหญ่ถือว่าวันนั้นกินโปรตีนล้นเกินไปแล้ว เพราะเรามีสิทธิ์เพียง 100 กรัม ต่อวัน คือ 3 มื้อ

ปริมาณโปรตีน (หน่วยเป็นกรัม) ในส่วนที่กินได้ 100 กรัม มีดังนี้

ข้าวกล้อง                     7.8
ข้าวซ้อมมือ                 6.6
ข้าวโพดเหลืองต้ม       4.3
ข้าวหอมมะลิ(ขาว)       6.2
ข้าวเหนียวขาวนึ่ง         4.1
เต้าหู้                             7.8
ถั่วแดง                         21.1
เนื้อไก่                         14-23
เนื้อวัว                         13-21
เนื้อหมู                         19.6
เนื้อปลา                      16-25
กุ้งกุลาดำ                     20.1
ปลาทูนึ่ง                      24.9
ปลาหมึกล้วย               15.1
ขนมปังปอนด์              12.2
ไข่ไก่                           12.3


ดูจากตารางข้างบนแล้ว สามารถเลือกกินโปรตีนหลายๆ อย่างรวมกันได้ แต่อย่าให้เกิน 100 กรัม ต่อวันก็แล้วกัน จะได้ห่างไข้ไกลโรค

โปรตีนนั้นใช่ว่าจะมีแต่ในเนื้อสัตว์ในพืชก็มี เช่น

ชนิดของผัก จำนวนกรัมในปริมาณที่กินได้ 100 กรัม เช่น

ยอดชะอม 9.5 กรัม มีวิตามินเอด้วย
ยอดกระถิน 8.4 กรัม มีแคลเซียมด้วย
ยอดแค 8.3 กรัม มีแคลเซียมและวิตามินเอด้วย
ผักกระเฉด 6.4 กรัม มีแคลเซียม วิตามินเอและซีด้วย

ถ้าเรามากินอาหารแบบไทยๆ  เช่น มื้อเย็นแทนที่จะกินสเต๊ก ก็มากินข้าวกล้อง(สุก) ผัก น้ำพริกกะปิ ปลาทูทอด ก็จะได้คุณค่าทางอาหารมาก ส่วนยอดชะอม ยอดกระถินก็เอามาชุบไข่ทอด ผักกระเฉดกินสดๆ กรอบดี ส่วนยอดแคก็ลวกให้สุกเสียหน่อย เท่านี้ก็จะได้โปรตีนไม่น้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกินอาหารที่มีแต่เนื้อสัตว์ (บก) ซึ่งจะอันตรายต่อสุขภาพมากกว่า และโอกาสที่จะเกิดโปรตีนล้นเกินก็มีมากกว่าด้วย



ถ้าอยากมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ก็ต้องหันกลับมากินอาหารแบบไทยเดิมๆ ของเราโดยเฉพาะกินผักพื้นบ้านให้มากๆ พวกผักสวนครัว รั้วกินได้ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายยังให้คุณค่าทางอาหารสูง ยิ่งปลูกกินเองยิ่งจะมั่นใจในความปลอดภัยจากสารพิษ

บางคนจะอ้างว่าไม่มีเวลาทำอาหารกินเองเพราะกว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำแล้ว เหนื่อยทำไม่ไหว ความจริงแล้วสมัยนี้มีเครื่องครัวที่ทันสมัยทั้งทุ่นเวลาและผ่อนแรงได้มาก การที่เราไม่ทำกินเองเพราะขี้เกียจ และไม่รักษาสุขภาพต่างหาก พวกอาหารถุงส่วนใหญ่จะเสี่ยงต่อความไม่สะอาดในการปรุง เสี่ยงต่อสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผงชูรส สารแต่งสี แต่งกลิ่นที่เป็นสารเคมี พวกสารที่ทำให้กรุบกรอบที่เป็นพิษ

อยากมีสุขภาพดีมาทำอาหารกินเอง แถมประหยัดเงินค่ายาอีกด้วย








  • อาการและการบำบัด "โรคเบาหวาน" ด้วยสมุนไพร
  • ผลมะระ
  • ต้นกระทืบยอด (ไมยราบ)
  • เถาตำลึงแก่
  • รากเตยหอม
  • ผลมะแว้งเครือ / มะแว้งต้น
  • เมล็ดหว้า
  • ใบ / เมล็ดอินทนิลน้ำ (ตะแบกดำ)
  • ต้นหมากดิบน้ำค้าง (หญ้ารากหอม)

  • การรักษาโรคไมเกรนด้วยสมุนไพร
  • ใบบัวบก
  • กระเทียม
  • ดอกแค